การใช้งานรถโฟล์คลิฟท์อย่างปลอดภัยเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ ในวันนี้เราจึงอยากแนะนำ ตัวอย่างกฎระเบียบความปลอดภัย ในการใช้รถโฟล์คลิฟท์ ที่สอดคล้องกับข้อบัญญัติทางกฎหมาย (กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2552) ดังนี้
1. คุณสมบัติผู้ใช้งานรถโฟล์คลิฟท์
รถโฟล์คลิฟท์เป็นรถที่มีรูปแบบเฉพาะตัวตามวัตถุประสงค์การใช้งานที่แตกต่างจากรถยนต์โดยสารทั่วไป ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานจึงต้องผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่อธิบดีประกาศกำหนด
2. ตรวจความพร้อมของรถก่อนใช้งานเสมอ
เช่นเดียวกับรถทั่วไป ที่ท่านต้องตรวจสอบความสมบูรณ์ในการใช้งานเป็นประจำทุกวัน ทั้งสภาพภายนอก ภายใน และด้วยการทดลองขับรถโฟล์คลิฟท์อย่างช้า ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่เกิดจากชิ้นส่วนของรถโฟล์คลิฟท์ชำรุด หากพบความผิดปกติใด ๆ ต้องระงับการใช้งานและแจ้งหัวหน้างานเพื่อรีบดำเนินการซ่อมบำรุงทันที
3. พิกัดการบรรทุกสิ่งของ
งายกวัตถุที่อยู่ด้านหน้าตัวรถ มีขีดจำกัดในการรองรับน้ำหนัก และความสูงของเสายก ก็มีระดับที่ไม่ควรบรรทุกสินค้าซ้อนกันสูงมากเกินระดับสายตาผู้ขับไป เพราะจะบดบังวิสัยทัศน์และอาจทำให้สินค้าร่วงหล่นจากแท่นงายกได้ง่าย ผู้ที่ควบคุมดูแล จึงควรทำป้ายแสดงพิกัดน้ำหนักและความสูงของวัตถุที่จะยกได้ไว้ที่ตัวรถโฟล์คลิฟทุกคัน เพื่อลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและยืดอายุการใช้งานของรถด้วย
4. การควบคุมความเร็วและการส่งสัญญาณขณะใช้รถ
การบีบแตร เป็นการส่งสัญญาณเสียงเตือนที่สำคัญ เมื่อขับรถโฟล์คลิฟท์ ในจุดที่มีคนอยู่จำนวนมาก และโดยเฉพาะในจุดอับสายตา ประตูเข้าออก ต่าง ๆ ดังนั้น การควบคุมความเร็วอย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และไม่ขับขี่อย่างคึกคะนองจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
5. จัดสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม
ในจุดที่มีการใช้รถโฟล์คลิฟท์เป็นประจำ เช่น คลังสินค้า ลานจอดรถ หรือบริเวณที่แคบ ควรตีเส้นที่พื้นเพื่อกำหนดเป็นช่องทางสำหรับขับขี่รถโฟล์คลิฟท์โดยเฉพาะ รวมถึงการติดอุปกรณ์จราจร เช่น กระจกนูน เพื่อเพิ่มวิสัยทัศน์ในการขับขี่ในจุดที่เป็นทางเลี้ยวต่าง ๆ
6. ใส่ใจรายละเอียดระหว่างใช้งานใช้รถโฟล์คลิฟท์
ในระหว่างการขับรถโฟล์คลิฟท์ ไม่ควรให้ผู้อื่นปีนป่าย เข้ามานั่งหรือยืนในห้องโดยสาร หรืออยู่ใกล้บริเวณเสาและงายกสินค้า และตัวผู้ขับขี่เองก็ไม่ควรยืนอวัยวะส่วนใด เช่น มือ แขน เท้า ออกนอกโครงหลังคาและเสาของรถ นอกจากนี้ หากเป็นจุดที่มีคนทำงานจำนวนมาก ต้องระวังไม่ให้มีการทำงานขนย้ายของใต้งารถ เพราะเป็นจุดเสี่ยงที่ผู้ควบคุมรถอาจไม่ทันสังเกต จนเกิดอุบัติเหตุได้
7. การแต่งกายที่รัดกุม
ผู้ปฏิบัติงานควรสวมเสื้อผ้าที่รัดกุม พอดีตัว ไม่รุ่มร่าม และสวมใส่หมวกนิรภัยอยู่เสมอในระหว่างการขับขี่ ต้องคำนึงเสมอว่าอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่และทุกเวลา
8. พาเลตรองสินค้าต้องเหมาะสม
ส่วนงาของรถโฟล์คลิฟท์ถูกออกแบบมาเพื่อสอดใต้พาเลตได้อย่างพอดี ทำให้การขนย้ายสิ่งของเป็นไปอย่างมีระเบียบและรวดเร็ว แต่หากพาเลตหรือฐานรองสินค้า ซึ่งอาจทำจากพลาสติกหรือไม้ อยู่ในสภาพกร่อนชำรุด ยุบตัวหรือหักขณะยก ก็จะทำให้จุดศูนย์ถ่วงของวัตถุที่ยกเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน อาจทำให้สินค้าร่วงหล่นจากงายกและเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงตามมาได้ ผู้ขับขี่รถโฟล์คลิฟท์จึงควรเป็นคนช่างสังเกตและมีสมาธิในการทำงานเพื่อรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ดียิ่งขึ้น
ความปลอดภัยในการขับรถโฟล์คลิฟท์ มิใช่เพียงการขับขี่ได้เท่านั้น ผู้ปฏิบัติงานต้องผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่อธิบดีประกาศกำหนด มีความช่างสังเกต มีสมาธิสูง และควรใส่ใจรายละเอียดในระหว่างการปฏิบัติงานทุกขั้นตอน ทั้งไม่ละเลยสอดส่องสภาพแวดล้อมในบริเวณที่ทำงาน เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่ป้องกันได้ด้วยความไม่ประมาท
ราคาที่แจ้งไว้ในเว็บ เป็นราคา ณ ปัจจุบันที่จัดทำเว็บไซต์
และราคาสินค้าทุกประเภท สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ตามราคาต้นทุนสินค้า ราคาขนส่งที่ปรับขึ้น
(บริษัทฯ ไม่สามารถแก้ราคาได้ทันทีทันใด) กรุณาติดต่อฝ่ายขายก่อนทำการสั่งซื้อ ทุกกรณี